การปรับหน้าดินก่อนสร้างบ้าน ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับคนที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเองจำเป็นต้องรู้เอาไว้ การถมที่เพื่อสร้างบ้าน จะทำในกรณีที่ดินที่จะปลูกสร้างอยู่ต่ำกว่าระดับถนน อาจเป็นแอ่งน้ำหรือบ่อน้ำเก่า หรือว่าต้องการให้บริเวณที่จะสร้างบ้านมีความสูงกว่าระดับถนนหรือระดับพื้นดินเดิม จะด้วยเหตุผลเพื่อการป้องกันน้ำท่วม หรือออกแบบบ้านมาให้การสร้างมีการยกระดับพื้นบ้านให้สูงขึ้น
และเมื่อได้ทำการถมดินแล้วในระยะแรกจะเห็นว่าดินที่ถมมีความสูงตามที่ได้กำหนดไว้ เช่น กำหนดให้ถมดินสูงกว่าระดับถนนประมาณ 80 เซนติเมตร แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะพบว่าดินเกิดการยุบตัวทำให้ความสูงอาจเหลือไม่ถึงครึ่งของที่ถมไว้ และการที่ดินเกิดการทรุดตัวภายหลังการถมนี่เอง จึงเป็นสาเหตุของข้อสงสัยว่าการสร้างบ้านทันทีภายหลังการถมดินเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่
ดังนั้นในหัวข้อนี้ จึงขอแยกออกมาเป็น 2 กรณีดังนี้
- กรณีโครงสร้างของตัวบ้านใช้ฐานรากแผ่ที่ไม่ได้ตอกเสาเข็ม จะทำได้เฉพาะกรณีที่ถมดินเพื่อปรับหน้าดินธรรมดาที่พื้นที่เดิมเป็นดินแข็งอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นบ่อน้ำเก่าหรือเป็นแอ่งน้ำ การทำฐานรากจะต้องขุดดินลงไปจนถึงชั้นดินแข็งเดิมเพื่อใช้เป็นตัวรับน้ำหนัก ไม่ใช่ให้ดินที่ถมไปใหม่เป็นตัวรับน้ำหนักต่อให้หน้าดินเริ่มยุบตัวไปแล้วก็ตาม ซึ่งยังไม่เพียงพอและเสี่ยงต่อการทรุดตัวของโครงสร้างบ้านในภายหลัง
- กรณีโครงสร้างของตัวบ้านใช้ฐานรากแบบที่มีเสาเข็มรองรับ ในกรณีนี้สามารถสร้างบ้านได้ทันทีหลังจากถมที่เสร็จแล้วได้เลย เนื่องจากว่าโครงสร้างของตัวบ้านจะอาศัยเสาเข็มเป็นตัวรับน้ำหนัก แต่จะเลือกใช้เสาเข็มแบบไหน หรือตอกเสาเข็มในความลึกเท่าไหร่ ต้องให้ทางวิศรกรที่เป็นคนกำหนดให้ เพราะเสาเข็มแต่ละชนิดมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน ความสามารถในการรับน้ำหนักที่แตกต่างกัน และที่สำคัญต้องคำนึงถึงเรื่องราคาของเสาเข็มแต่ละชนิดด้วย