เครื่องสั่นคอนกรีต (Concrete Vibrator) เครื่องมือขาดไม่ได้ แต่ต้องใช้ให้ถูกวิธี

ในงานคอนกรีตจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการอัดแน่นคอนกรีตก่อนที่จะแข็งตัว เพื่อให้คอนกรีตมีกำลังอัดที่ดี ทำให้เนื้อคอนกรีตอัดแน่นสม่ำเสมอ ไม่เป็นรูโพรง ไม่มีแตกตัวหรือแยกตัวออกจากกัน มีการยึดเกาะยึดเหนี่ยวที่ดีของเหล็กที่ผูกไว้เป็นแบบหล่อ หรือเป็นเหล็กเส้นที่เสริมระหว่างคอนกรีต

วิธีการอัดแน่นคอนกรีต สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

– การเหวี่ยงหนีศูนย์ (Centrifugation)
– การกระทุ้ง (Tamping)
– การตำ (Rodding)
– การเขย่า (Vibration)

การใช้เครื่องสั่นคอนกรีตโดยการจี้คอนกรีต ถือเป็นวิธีการเขย่า (Vibration) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งของการอัดแน่นคอนกรีต เครื่องสั่นคอนกรีตทำให้เกิดการสั่นสะเทือนจากมอเตอร์ ช่วยให้เนื้อปูนรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน คุณภาพของปูนจึงได้ตามมาตรฐาน

จี้คอนกรีตนานเกินไป จะกลายเป็นผลเสีย

แต่การจี้คอนกรีตใช้เวลานานเกินไปจะกลายเป็นข้อเสียเพราะทำให้ส่วนผสมคอนกรีตแยกตัวกันมากเกินไปจนทำให้หินตกลงด้านล่าง ส่วนทรายและซีเมนต์เพลสจะแยกตัวลอยขึ้นมาอยู่ผิวบน ระยะการจี้คอนกรีตก็มีผลเช่นกัน ระยะของการจี้ควรเว้นช่วง 5-10 เซนติเมตร และที่สำคัญไม่ควรดึงหัวจี้ขึ้นลงอย่างรวดเร็วเพราะจะทำให้เกิดรูโพรงในคอนกรีต ดังนั้นควรใช้เครื่องสั่นคอนกรีตให้เหมาะสมกับงานด้วย

จี้คอนกรีตอย่าให้โดนโครงเหล็กหรือไม้แบบ

การจี้ปูนด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้าแล้วไปโดนเหล็กเสริมหรือไม้แบบ จะทำให้คอนกรีตซึ่งมีส่วนผสมคือ หิน ทราย และปูน เกิดการแยกตัวออกจากกัน โดยหินซึ่งมีน้ำหนักมากที่สุกจะตกลงข้างล่าง ส่วนน้ำปูนจะลอยขึ้นข้างบน ภาษาช่างเรียกว่า “คอนกรีตหมูสามชั้น” ทำให้โครงสร้างคอนกรีตที่ออกแบบมา ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ตามต้องการ

เครื่องสั่นคอนกรีต (Concrete Vibrator)