อิฐมวลเบา (Lightweight Concrete) ทางเลือกใหม่ของงานก่อสร้าง

อิฐมวลเบา (Lightweight Concrete) คือคอนกรีตมวลเบาหรืออิฐมวลเบา เป็นวัสดุสำหรับก่อผนังสำหรับอาคารสูงหรือบ้านที่อยู่อาศัย เป็นวัสดุก่อที่นำเทคโนโลยีการผลิตมาจากต่างประเทศ มีทั้งแบบบล็อกตันและบล็อกกลวง (คล้ายคอนกรีตบล็อก) ขนาดใหญ่ แต่น้ำหนักเบามากกว่าเนื่องจากมีฟองอากาศขนาดเล็กกระจายอยู่อย่างสม่ำเสมอในเนื้อวัสดุ

อิฐมวลเบามีขนาดมาตรฐาน กว้าง 20 x 20 เซนติเมตร และมีความหนาตั้งแต่ 7.5, 10, 12.5, 15, 20 เซนติเมตร มี 2 ชั้นคุณภาพคือ

  1. ชั้นคุณภาพ 2 ตามมาตรฐาน มอก. 1505 – 2541 ชนิด 0.5 จะมีความหนาแน่น (Dry Density) ไม่เกิน 500 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และกำลังแรงอัด (Compressive Strength, fc) ไม่น้อยกว่า 30 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร
  2. ชั้นคุณภาพ 4 ตามมาตรฐาน มอก. 1505 – 2541 ชนิด 0.7 จะมีความหนาแน่น (Dry Density) ไม่เกิน 700 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และกำลังแรงอัด (Compressive Strength, fc) ไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร

คุณสมบัติเด่นของอิฐมวลเบา

  1. มีน้ำหนักเบากว่าอิฐมอญ 2 – 3 เท่า และเบากว่าคอนกรีต 4 – 5 เท่า
  2. กันเสียงและดูดซับได้ดี สามารถกันเสียงได้ดีกว่าอิฐมอญ ช่วยลดทอนความดังของเสียงจากภายนอกอาคารและระหว่างห้อง
  3. เป็นฉนวนทางความร้อนและสามารถทนไฟได้นาน 2 – 4 ชั่วโมง
  4. ทนต่อสภาวะอากาศ
  5. รองรับน้ำหนักได้ดี

ประเภทของอิฐมวลเบา คอนกรีตมวลเบาแบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามวัตุดิบดังนี้

  1. คอนกรีตเบาชนิดไร้มวลรวมละเอียด (No – Fines Concrete) คอนกรีตที่ไม่มีมวลรวมละเอียดผสมอยู่ (ทราย) ทำให้มีช่องว่างระหว่างมวลหยาบที่ยึดเกาะติดกัน
  2. คอนกรีตพรุน (Aerated Concrete) หรือโฟมคอนกรีต (Foam Concrete) หรือคอนกรีตมวลเบา (Autoclaved Aerated Concrete, AAC) หรือคอนกรีตมวลเบาเซลลูล่าร์ (Cellular Lightweight Concrete) ถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วงคริสต์ศักราช 1920 โดยสถาปนิกชาวสวีเดน และนักประดิษฐ์ชื่อ Alex Erickson คอนกรีตชนิดนี้มีน้ำหนักเบาและเป็นวัสดุหล่อขึ้นมาที่เป็นทั้งโครงสร้างและฉนวนกันความร้อนในตัวเดียวกัน จากคุณสมบัติความเป็นฉนวนความร้อนที่ดี จึงถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างทั้งภายในและภายนอก นอกจากนี้การที่สามารถถูกขึ้นรูปได้ด้วยเลื่อยหรือสว่าน จึงถูกนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย

คุณสมบัติที่ดีของคอนกรีตพรุนคือ

  1. เป็นฉนวนกันความร้อนที่ดี สามารถนำไปใช้ทั้งภายในและภายนอก
  2. สามารถขึ้นรูปและปรับแต่งได้โดยง่าย ทำให้นำไปใช้งานสะดวกและรวดเร็ว
  3. มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ทั้งขั้นตอนการผลิตและการใช้งาน
  4. มีน้ำหนักเบา ทำให้ขนส่งได้ง่าย

คอนกรีตมวลเบานี้ ผลิตโดยการผสมผงอะลูมิเนียมหรือสารก่อฟองอากาศและอบด้วยไอน้ำความดันสูงขณะหล่อเพื่อให้เกิดฟองอากาศและความพรุนในเนื้อคอนกรีต จึงทำให้มีน้ำหนักเบากว่าคอนกรีตทั่วๆ ไป

อิฐมวลเบา (Lightweight Concrete)