ดาเนียล แบร์นูลลี นักคณิตศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 18

สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกๆ ท่าน

วันนี้บุคคลคนที่สองที่ผมนำประวัติของท่านมาเล่าสู่กันฟังกับเพื่อนๆ นั้นเป็นนักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งแห่งศตวรรษที่ 18 เลยนะครับ นั่นก็คือ ดาเนียล แบร์นูลลี

ดาเนียล แบร์นูลลี เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1700 ณ เมือง Groningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ ท่านเกิดในตระกูลนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในระดับชั้นนำของโลก เมื่ออายุได้ 13 ปี เขาถูกส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Basel เพื่อศึกษาวิชาปรัชญาและตรรกศาสตร์ เขาเรียนจบชั้นปริญญาตรีเมื่ออายุ 15 ปี และ เรียนจบปริญญาโทในปีถัดมา ดาเนียลมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ ระหว่างที่เขากำลังศึกษาวิชาปรัชญาที่ Basel นี้เองเขาก็ได้เรียนรู้วิธีการทางแคลคูลัสจากบิดา และ พี่ชาย บิดาของดาเนียลตั้งใจจะให้ดาเนียลเป็นพ่อค้า และ จะส่งเขาไปฝึกงานแต่ดาเนียลไม่ยอม ในที่สุดบิดาของดาเนียลก็ยอมผ่อนปรนให้ แต่ยังไม่ยอมให้ศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ทั้งยังประกาศว่าการเรียนคณิตศาสตร์นั้นไม่ทำเงิน ดาเนียลถูกส่งไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1720 ระหว่างนั้นบิดาของดาเนียลได้ถ่ายทอดความรู้ทางคณิตศาสตร์ให้ ซึ่งเขานำสิ่งที่เรียนรู้จากบิดามาประยุกต์ใช้กับวิชาที่เรียนผลงานที่มีชื่อว่า Mathematical Exercise ทำให้ดาเนียลได้รับเชิญให้ไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์ทางคณิตศาสตร์ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี ค.ศ. 1725 แต่น่าแปลกใจที่เขาไม่มีความสุขกับการทำงานที่นั่น และ เลือกที่จะย้ายไปสอนวิชาพฤกษศาสตร์ที่กรุง Basel ในปี ค.ศ. 1734 ในปีเดียวกันนั้นดาเนียลได้รับรางวัลชนะเลิศจากบัณฑิตยสภาแห่งกรุงปารีสร่วมกับบิดา นับว่าเขาเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับจากสมาคมวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกเป็นอย่างมาก

สำหรับการค้นพบของ แบร์นูลลี ถือเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งในประวัติวิทยาศาสตร์โลกเลยครับ โดยในปี 1743 แบร์นูลลี ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สรีรวิทยา และเป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์ในอีก 7 ปีต่อมา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตรงกับความเชี่ยวชาญที่สุด ในปีเดียวกันนั้นเองก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ Royal Society เพราะมีผลงานฟิสิกส์เชิงทฤษฎีที่ช่วยในการวิเคราะห์โจทย์กลศาสตร์ที่มิสามารถแก้ได้โดยใช้เทคนิคของ นิวตัน โดยตรง ซึ่งกฎทรงพลังงานที่ แบร์นูลลี ได้ค้นพบนี้ถือว่า เป็นกฎที่สำคัญที่สุดของวิทยาศาสตร์

ขณะทำงานที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แบร์นูลลี มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อ เลออนฮาร์ด ออยเลอร์ คนทั้งสองได้ร่วมมือกันศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างความดัน และความเร็วของเลือดในเส้นเลือด โดยได้เจาะรูที่ผนังของถังน้ำที่เต็มแล้วสังเกตดูระยะทางที่ของเหลวตกถึงพื้นว่าขึ้นกับระยะสูงของรูอย่างไร

นอกจากนี้ แบร์นูลลี ก็ยังสนใจใช้คณิตศาสตร์วิเคราะห์ความถี่ของคลื่นเสียงที่เกิดจากอุปกรณ์ดนตรีด้วย และพบว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นเวลาสั่น จะสั่นด้วยความถี่ต่างๆ ซึ่งความถี่ต่ำสุดคือความถี่พื้นฐาน ส่วนความถี่สูงกว่า เรียก overtone และดนตรีกับคณิตศาสตร์มีความสัมพันธกัน

แบร์นูลลี สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย Basel จนเกษียณเมื่ออายุ 76 ปี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ.1782 สิริอายุ 82 ปีที่เมือง Basel ในสวิสเซอร์แลนด์

ผมต้องขอคารวะในความอุตสาหะและความรู้ที่ท่านได้คิดค้นขึ้นมา เพื่อที่พวกเราทุกๆ คนจะได้นำไปใช้ และ พัฒนาต่อยอดกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดมา ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ

หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ

ADMIN JAMES DEAN